จมูกปลาหลด ๒

Oxystelma esculentum (L. f.) Sm.

ชื่ออื่น ๆ
เครือไส้ปลาไหล (มหาสารคาม); ตะหมูกปลาไหล (ลพบุรี); ผักไหม (เชียงใหม่); สะอึก (กลาง); กระพังโหม (ทั่ว
ไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ต้นและกิ่งเรียว มียางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปแถบหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกข้างโคนก้านใบหรืออยู่ระหว่างก้านใบ ดอกสีขาวแกมชมพูหรือแกมสีม่วงแดง ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มักออกเป็นคู่ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี เมล็ดจำนวนมากมีขนาดเล็ก ทรงรูปไข่ ค่อนข้างแบน ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว

จมูกปลาหลดชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปีต้นและกิ่งเรียว ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปแถบหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบางแต่เหนียวคล้ายหนัง กางออกและบิดเล็กน้อย มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบเรียว ยาว ๐.๒-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่ม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกข้างโคนก้านใบหรืออยู่ระหว่างก้านใบ ช่อห้อยลง มี ๑-๙ ดอก ก้านช่อเรียว ยาว ๔-๔.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ ซม.ดอกตูมค่อนข้างกลมแป้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย แยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก รูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม โคนกลีบเลี้ยงด้านในมีต่อมขนาดเล็กเรียงเป็นวงรอบ กลีบดอกด้านนอกสีขาวอมเทา เกลี้ยงด้านในสีขาวแกมชมพูหรือแกมสีม่วงแดง รูปวงล้อกึ่งรูปถ้วย เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑.๕-๒ ซม. ส่วนที่เชื่อมติดกันจากโคนกลีบถึงบริเวณที่แยกเป็นแฉก ยาว ๖-๗ มม. มักมีขีดสีชมพูหรือสีม่วงแดงตามแนวรัศมี ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาว ๘-๙ มม. ด้านในมีขนละเอียด ขอบกลีบมีขนสั้นสีขาวหนาแน่น รยางค์เส้าเกสร ๕ อัน สีนวล รูปใบหอกค่อนข้างหนา กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๗-๘ มม. โคนเว้าเล็กน้อย ปลายเรียวและโค้งเหนือเส้าเกสร ส่วนล่างของรยางค์ด้านในเชื่อมติดกับก้านชูอับเรณู เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร ก้านชูอับเรณูเป็นแผ่นหนา อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ส่วนปลายมีเยื่อเป็นแผ่นบางรูปสามเหลี่ยมสั้น กลุ่มเรณูมี ๒ กลุ่ม รูปกระบอง ติดห้อยลง ก้านกลุ่มเรณูสั้น ปุ่มยึดก้านกลุ่มเรณูกึ่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สีน้ำตาล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๒ รังไข่ แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นปุ่ม มีขอบเป็น ๕ เหลี่ยม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มักออกเป็นคู่ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม.เปลือกบางนุ่ม มีขนสั้นนุ่ม เมล็ดมีจำนวนมาก สีน้ำตาลเข้ม ทรงรูปไข่ ค่อนข้างแบน กว้างประมาณ ๒.๕ มม.ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาวยาวประมาณ ๒ ซม.

 จมูกปลาหลดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามที่ลุ่มน้ำขัง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบในเขตร้อนทั่วโลก

 ประโยชน์ ในอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย ใช้เป็นยากลั้วคอ ชะล้างแผล และแก้ดีซ่าน ไทยใช้เป็นสมุนไพรมาช้านาน ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ และจารึกบนแผ่นศิลาที่ผนังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและวัดราชโอรสาราม กล่าวถึงการนำจมูกปลาหลดชนิดนี้มาปรุงเข้ายาหลายตำรับ เช่น ยาเขียวน้ำมูตร ยาเขียวมหาคงคา ยามหากะเพรา และยาขนานต่าง ๆ อีกมาก ใบและดอกกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จมูกปลาหลด ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Oxystelma esculentum (L. f.) Sm.
ชื่อสกุล
Oxystelma
คำระบุชนิด
esculentum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Smith, James Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1741-1783)
- Smith, James Edward (1759-1828)
ชื่ออื่น ๆ
เครือไส้ปลาไหล (มหาสารคาม); ตะหมูกปลาไหล (ลพบุรี); ผักไหม (เชียงใหม่); สะอึก (กลาง); กระพังโหม (ทั่ว
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์